วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิจัยชี้ชายแต่งงานแล้วที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เสี่ยงเสียชีวิตน้อยลง

 ภัยร้ายที่คร่าชีวิตประชากรเพศชายที่มีน้อยอยู่แล้วให้ลดลงไปอีกอย่าง มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชายเป็นจำนวนมาก บางคนคิดว่าตัวเองสุขภาพแข็งแรงดี แต่พอรู้ตัวอีกที เอ้า! ดันเป็นนู้นเป็นนี่ชนิดที่เกินเยียวยาไปซะแล้ว 

          โดยในวันนี้กระปุกดอทคอมมีผลการศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งต่อมลูกหมากมาบอกให้ทราบกัน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มันโยงไปถึงเรื่องของการแต่งงานด้วยน่ะสิครับ เนื่องจากผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า ชายที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว และเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่นั้น มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าชายโสดหรือเป็นหม้ายซะอีก โดยชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งแต่งงานแล้วลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลง 40 เปอร์เซ็นต์

          ทั้งนี้ แม้จะไม่มีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจนว่าเหตุใดผลที่ได้จากการสำรวจออกมาเป็นเช่นนั้น แต่มีทฤษฎีความเป็นไปได้ว่าชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ปราศจากความขัดแย้ง และการได้กำลังใจที่ดีจากภรรยา มีส่วนผลักดันให้คุณผู้ชายพร้อมจะต่อสู้กับโรคร้าย หันมาดูแลตัวเอง พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หรือเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ ขณะที่ชายที่หย่าแล้วหรือภรรยาเสียชีวิต มีความเสี่ยงที่จะเจอผลกระทบที่รุนแรงจากมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า อันเนื่องมาจากความเครียด จนทำให้ร่างกายไม่พร้อมต่อสู้กับอาการดังกล่าว
 
          ผลการศึกษาข้างต้นได้รับเลือกลงตีพิมพ์ใน Canadian Journal of Urology ด้วย ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจคราวนี้สอดคล้องกับผลที่ได้จากงานชิ้นอื่น ๆ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องของความสัมพันธ์ที่มั่นคง ส่งผลต่อสุขภาพของคู่รักได้อย่างไรด้วย เช่น ในปี 2011 ผลการศึกษาระดับนานาชาติชิ้นนึงมีอาสาสมัครทั้งหมด 163,000 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสังเกตพบว่าชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งยังไม่ได้แต่งงาน มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตมากกว่าชายที่แต่งงานแล้วถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ชายกลุ่มหลังยังมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า เพราะพวกเขาจะหาทางรักษาตัวเองก่อนที่อาการจะลุกลามไปมากกว่านี้
          ทุก ๆ ปี ในประเทศอังกฤษนั้นพบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากเกือบ 32,000 เคส และชาย 10,000 คน ต้องเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว นั่นเท่ากับกว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 คนต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งตัวแปรในการเพิ่มความเสี่ยงอยู่ที่อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่เนื้อร้ายจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ค่อนข้างมาก รวมไปถึงพันธุกรรมด้วย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และเข้ารับการรักษาโดยทันท่วงทีก็มีโอกาสรอดชีวิตจากโรคร้ายนี้เช่นกัน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น